เรื่อง/ภาพ : วิลาวรรณ คงเรือง/ เกษตรกรข่าว นครศรีฯ
เดิมทีนั้น “ต้นขี้ใต้” เป็นผักพื้นบ้านที่หาได้ง่ายในฤดูทำนาที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เวลานี้ที่ภาคใต้นิยมกันมาก เพราะว่านำมาทำเป็นอาหารจำพวกผักเหนาะ และแกงส้ม ส่วนถ้าเป็นคนภาคอื่นๆ เช่นภาคอีสานก็จะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป และนิยมนำมาทำเป็นอาหารเช่นกัน ณ วันนี้วิธีการทำนาเปลี่ยนรูปแบบไป โอกาสที่จะได้ต้นขี้ใต้ไปทำเป็นอาหารแบบแต่ก่อนแทบจะไม่มีแล้ว แต่ก็โชคดีที่เกษตรกรเริ่มที่จะเห็นคุณค่าของพืชผักชนิดนี้
นายญาณพัฒน์ คงเย็น อายุ 44 ปี บ้านโคกสูง-เนินธัมมัง ม.6 ต.แหลม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โทร.093-656 4979 ทำไร่นาสวนผสมในพื้นที่ จำนวน 4 ไร่ ปลูกพริกขี้หนู กล้วย มะพร้าว เลี้ยงปลา และพืชหลักที่สร้างรายได้ คือต้นขี้ใต้ จำนวน 3 ไร่ มีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ในราคา กก.ละ 80 บาท ได้วันละประมาณ 100 กก. เฉลี่ยขายได้ 800 บาท/วัน นับเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว
“ผมปลูกต้นขี้ใต้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ครั้งแรกที่ปลูกเจอปัญหาหอยเชอรี่กัดกินต้นเสียหาย แก้ปัญหาโดยใช้กากชากำจัด ก็พอทำให้หายได้”
วิธีการปลูกต้นขี้ใต้ จากพื้นที่เดิมที่เคยปลูก ซึ่งก็คือพื้นที่นาที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ก่อนปล่อยถ้านามีน้ำอยู่ก็ปล่อยน้ำออกจากนาที่เป็นแปลงปลูก ตากหน้าดินให้แห้งประมาณ 1 เดือน ไถตากหน้าดินให้แห้ง จากนั้นปล่อยน้ำเข้านา ตีเถือกให้เป็นโคลนตม เมล็ดเก่าก็จะงอกขึ้นมา (กรณีเป็นแปลงที่เคยปลูก) ประมาณ 2 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้ ในแต่ละปีทำได้ 1 ครั้ง เก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.
กรณีเป็นแปลงที่ปลูกใหม่ (ไม่เคยปลูกมาก่อน) มีวิธีการเตรียมแปลงปลูกเหมือนกัน แต่จะต้องหาต้นพันธุ์มาปลูก “ต้นพันธุ์ของผมครั้งแรกหามาจากพื้นที่ตำบลเขาพังไกร อ.หัวไทร นำมาขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ที่ทุ่มเทกับการปลูกต้นขี้ใต้ ทำให้เป็นที่รู้จักและเริ่มมีเกษตรกรคนอื่นๆสนใจมาดูงาน รวมทั้งล่าสุดนี้ นายสมชาย เกิดเกลี้ยง หัวหน้าหน่วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สาขาดอนแค อ.หัวไทร จ.นครศรีฯ ให้เกียรติมาเยี่ยมชมแปลงปลููกต้นขี้ใต้อีกด้วย
รู้จัก “ต้นขี้ใต้”
“ต้นขี้ใต้” ตามข้อมูล “วิกิพีเดีย” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ผักเขียด” (ชื่อวิทยาศาสตร์: Monochoria vaginalis) มีชื่อสามัญหลายชื่อ เช่น heartleaf false pickerelweed, oval-leafed pondweed เป็นต้น เป็นพืชชนิดหนึ่งจัดเป็นวัชพืชน้ำ พบทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำขัง หนอง คลอง บึง ชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ ขากบขาเขียด ขาเขียด ผักเป็ด ผักเผ็ด ผักริ้น ผักหิน ผักฮิ้น ผักฮิ้นน้ำ ผักขี้เขียด กันจ้อง ผักลิ่น ผักลิ้น ริ้น ผักอีฮิน ผักอีฮินใหญ่ ในภาษาอีสาน และ ขี้ใต้ ในภาษาใต้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นวัชพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายผักตบชวาแต่ขนาดเล็กกว่า ลำต้นตั้งตรงมีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีไหลสั้น ๆ และรากฝอยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ใบลักษณะเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายผักตบชวาแต่เล็กกว่า เส้นของใบโค้งขนานไปตามความยาวของใบ ใบกว้าง 2-45 มิลลิเมตร ยาว 9-85 มิลลิเมตร ออกสลับกันที่โคน สีเขียวอ่อน ก้านใบยาวและอวบน้ำโคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มใบที่อ่อนกว่า ด้านในของก้านใบมีเยื่อบางสีขาว ออกดอกเป็นช่อ กลีบสีม่วง ทางก้านใบ มีดอกย่อย 6-15 ดอกและผล มีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้รากและเมล็ด
ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอก จะออกในช่วงหน้าฝนใช้รับประทานเป็นผัก นิยมรับประทานทั้งต้น มักเก็บช่วง 2-3 อาทิตย์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้นจะแก่ รับประทานไม่อร่อย วิธีรับประทานเป็นอาหาร จะรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือกับแกงรสจัดของภาคใต้ หรืออาหารรสจัดประเภท ลาบ ยำ ก้อย ส้มตำได้ นอกจากนี้ยังนำไปแกงส้ม แกงกับปลา หรือเนื้อหมู
ประโยชน์ทางยา ใบของผักเขียด นำมาคั้นน้ำรับประทาน แก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี หรือรับประทานใบสดจะมีสรรพคุณ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย.