กรมชลประทาน เผยหลังจากเกษตรในพื้นที่ทุ่งบางระกำได้เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ทำให้สามารถใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงช่วยรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนนี้ได้แล้ว
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว และจากอิทธิพลของพายุเซินกาที่ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังและน้ำหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ที่มวลขนาดใหญ่ได้ไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มต่ำอย่างรวดเร็ว แต่จากการที่กระทรวงเกษตรจัดระบบการปลูกพืชมีการปรับเปลี่ยนปฏิทินการส่งน้ำให้กับเกษตรกรทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 265,000 ไร่ ในการปลูกข้าวรอบที่ 2 เป็นปีแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าแปลงนาของเกษตรกรมีข้าวสุกและเก็บเกี่ยวไปแล้ว เกษตรกรสามารถขายข้าวได้เพราะผลผลิตรอดพ้นจากภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ที่ผ่านมากรมชลประทานมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว และหนึ่งในนั้นคือ พื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาที่มีน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ให้เป็นพื้นที่ควบคุมน้ำชั่วคราวในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงแล้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ โดยผลการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมาสรุปว่า โครงการแก้มลิงเหนือนครสวรรค์ ประกอบด้วยพื้นที่แก้มลิงย่อยทั้งหมด 69 พื้นที่ ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 24 อำเภอ 153 ตำบล สามารถกักเก็บน้ำชั่วคราวได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร จำแนกเป็นทุ่งนาในเขตชลประทาน 723 ล้านลูกบาศก์เมตร และทุ่งนานอกเขตชลประทาน 1,326 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทานที่ใช้ในการควบคุมน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ถนน หรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางในการสัญจรได้อีกด้วย
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิงจะต้องมีการจัดการภายใน ด้วยการให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์ และการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้ และหาทางออกร่วมกัน ระหว่างกรมชลประทานและประชาชน รวมทั้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน และลดผลกระทบในการแยกน้ำระหว่างเกษตรกรกันเอง
เมื่อโครงการแล้วเสร็จก็จะเป็นประโยชน์ด้านการบรรเทาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนให้กับประชาชน จำนวน 57,325 ครัวเรือน ประชากร 163,627 คน รวมทั้งประชาชนที่อาศัยในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน และพื้นที่ท้ายน้ำจากพื้นที่แก้มลิงไปถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ 122,315 ครัวเรือน ประชากร 348,309 คน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็จะได้รับประโยชน์จากการบรรเทาน้ำท่วมจากการใช้พื้นที่แก้มลิงเช่นกัน