เรื่อง/ภาพ : หนึ่งฤทัย แพรสีทอง
หากพูดถึงกล้วยเศรษฐกิจแล้ว “กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช” นับได้ว่าเป็นกล้วยเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกด้วยปริมาณการบริโภคกว่า 100-120 ล้านตันต่อปี มูลค่าการบริโภคมากกว่าล้านล้านบาททั่วโลก ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 95% เมื่อเทียบกับกล้วยหอมทองหรือกล้วยหอมเหลืองที่มีสัดส่วนการบริโภคเพียง 5% เท่านั้น โดยประเทศที่มีการปลูกกันมาก คือ เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์และอเมริกาใต้ ประเทศผู้บริโภคและนำเข้ารายใหญ่ คือ อเมริกา ยุโรปและจีน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อ กล้วยหอมเขียวจะมีการส่งเสริมปลูกในบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา นั่นเพราะความต้องการการบริโภคกล้วยหอมเขียวที่มีปริมาณสูงในตลาดนั่นเอง ขณะที่พื้นที่ปลูกเดิมมีปัญหา ผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องการขยายฐานการผลิตในพื้นที่ใหม่ๆ และขยายตลาดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก
เมื่อสองยักษ์ใหญ่จับมือกัน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยบริษัท เจริญ โภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด จับมือกับ โดล เอเชีย จำกัด ส่งเสริมเกษตรกรไทยปลูกกล้วยหอมเขียว “คาเวนดิช” เป้าหมายแรก 6 หมื่นไร่ ใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ โดย โดล เอเชีย คือ ผู้ผลิตและส่งออกกล้วยหอมเขียวรายใหญ่อันดับต้นๆของโลก ก่อนหน้านี้ โดล เอเชีย มีฐานการผลิตอยู่ที่เอกวาดอร์และฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน ผู้ผลิตอันดับต้นๆ อย่างฟิลิปปินส์มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิชมากกว่า 2 ล้านไร่ ขณะที่โดล เอเชียมีพื้นที่ปลูกกล้วยในฟิลิปปินส์ เพียงแสนต้นๆ เท่านั้น จึงต้องการขยายฐานการผลิตมายังประเทศอื่นในเอเชียในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยมองประเทศที่มีศักยภาพอย่าง ไทย เวียดนาม พม่าและลาว
ด้วยสัมพันธภาพทางการค้าที่มีมาอย่างยาวนานของ ซีพี.และโดล เอเชีย ส่งเสริมปลูกกล้วยหอมเขียว “คาเวนดิช” ในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น โดยโดล เอเชีย คือผู้รับซื้อเพื่อทำตลาดที่มีอยู่ในมืออยู่แล้วในตลาดโลก ขณะที่ ซีพี.มีฐานกำลังในการผลิตที่พร้อมในประเทศไทย
คุณขุนศรี ทองย้อย ประธานผู้บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้หันมาจับธุรกิจกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ร่วมทุนกับ บริษัท โดล เอเชียจำกัด โดยจะเป็นผู้ผลิตส่งให้กับโดล เอเชียที่จะเป็นผู้ส่งออกไปยังต่างประเทศ 100% โดยทางซีพีเป็นพันธมิตรร่วมกับโดลมายาวนาน ขณะที่โดลเองมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การค้ากล้วยคาเวนดิชมายาวนาน โดยก่อนหน้ามีการส่งเสริมปลูกและทำการค้ากล้วยคาเวนดิชในหลายประเทศ และมองว่าไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่สุดในโซนเอเชีย จึงเกิดความร่วมมือนี้เกิดขึ้น โดย ซีพี.มีการทดสอบปลูกกล้วยคาเวนดิชในแปลงผลิตของบริษัททั้งที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.ชลบุรี เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 2 ครอป ส่งให้กับ โดล เอเชีย เพื่อทดลองส่งออกแล้ว จึงมั่นใจว่า กล้วยหอมเขียวคาเวนดิชจะสามารถเป็นพืชสร้างรายใหม่ให้กับเกษตรกรไทย และไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของกล้วยหอมเขียวคาเวนดิชในตลาดโลกได้
มุ่งเป้าที่ตลาดส่งออกเป็นหลัก
การส่งเสริมปลูกกล้วยในครั้งนี้ ทางซีพี.มุ่งเป้าที่ตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยมีลูกค้ารายใหญ่ก็คือ จีน ซึ่งทาง ซีพี. มีการปลูกนำร่องเพื่อศึกษาข้อมูลของกล้วยชนิดนี้ในพื้นที่ 6.25 ไร่ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผลผลิตดีเกินคาด ไร่ละ 7 ตัน/รุ่น ตอนนี้เป็นปีที่ 3 ของการทดลองปลูก และมีความมั่นใจที่จะดูแลเกษตรกรให้สามารถผลิตกล้วยคุณภาพตามความต้องการของบริษัทได้ โดยมีการวางแผนการขยายพื้นที่ในช่วงแรกนี้กว่า 60,000 ไร่ ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมเขียว คาเวนดิช รายใหญ่รองจากประเทศฟิลิปปินส์เลยทีเดียว และน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรไทย โดยทาง ซีพี.มุ่งเป้าไปที่พื้นที่นาข้าวซึ่งรายได้ต่อพื้นที่ไม่มากเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และสร้างโอกาสที่ดีให้กับเกษตรกรได้
แนวทางส่งเสริมสู่เกษตรกร
แนวทางส่งเสริมสู่เกษตรกรตามรูปแบบการปลูกของบริษัท ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำโมเดลคำนวณราคาที่เหมาะสมในการรับซื้อ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อในราคา 10-12 บาท/กก. ซึ่งกล้วยพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นตรงที่มีหวีขนาดใหญ่ เครือใหญ่ น้ำหนักของเครืออยู่ที่ 30-50 กก.ขึ้นอยู่กับการดูแล โดยมาตรฐานกล้วยคุณภาพส่งออกต้องมีน้ำหนัก 1.8 กก.ต่อหวีขึ้นไป โดยหวีที่ไม่ได้มาตรฐานทางบริษัทได้รองรับผลผลิตของลูกไร่ ด้วยการรับซื้อคืนเพื่อส่งให้กับโรงงานแปรรูปของบริษัทในเครือเพื่อนำไปทำเค้กกล้วยหอม ทั้งนี้ทางบริษัทมองว่า เกษตรกรที่ปลูก 1 ครอบครัวน่าจะดูแลได้ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ อย่างประณีต
พื้นที่ส่งเสริม 60,000 ไร่
สำหรับพื้นที่ส่งเสริมทางบริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 60,000 ไร่ ในช่วงแรก โดยทางบริษัทจะสร้างจุดรับซื้อและแพคกิ้งผลผลิตก่อนส่งออกเพื่อรองรับผลผลิตกล้วยจากแปลงปลูกในรัศมีไม่เกิน 300 กม. จากกรุงเทพฯ และสร้างเครือข่ายการปลูกโดยมีจุดรับซื้อไม่เกิน 30 กม.ในพื้นที่แปลงปลูก เพื่อให้คงความสด ใหม่ของกล้วย สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมควรจะเป็นพื้นที่ที่มีสภาพดินที่ดี มีน้ำตลอดทั้งปี ความเร็วของลมไม่เกิน 45 กม./ชม. อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส และไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส ซึ่งทาง ซีพี.จะมีการสำรวจพื้นที่ปลูกของผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพร้อมแนะนำ ดูแลวิธีการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามสเปกที่บริษัทรับซื้อ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่สูงสุดกับเกษตรกรในโครงการ
แนวทางส่งเสริมสู่เกษตรกรตามรูปแบบการปลูกของบริษัท ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำโมเดลคำนวณราคาที่เหมาะสมในการรับซื้อ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อในราคา 10-12 บาท/กก. ซึ่งกล้วยพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นตรงที่มีหวีขนาดใหญ่ เครือใหญ่ น้ำหนักของเครืออยู่ที่ 30-50 กก.ขึ้นอยู่กับการดูแล โดยมาตรฐานกล้วยคุณภาพส่งออกต้องมีน้ำหนัก 1.8 กก.ต่อหวีขึ้นไป โดยหวีที่ไม่ได้มาตรฐานทางบริษัทได้รองรับผลผลิตของลูกไร่ ด้วยการรับซื้อคืนเพื่อส่งให้กับโรงงานแปรรูปของบริษัทในเครือเพื่อนำไปทำเค๊กกล้วยหอม ทั้งนี้ทางบริษัทมองว่า เกษตรกรที่ปลูก 1 ครอบครัวน่าจะดูแลได้ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ อย่างประณีต
เทคนิคการปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช
สำหรับการปลูกกล้วยหอมเขียว”คาเวนดิช” นั้น คุณสายัณต์ ลื่อหล้า นักวิชาการฝ่ายผลิตกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแปลงทดลองปลูกของบริษัทได้มีการตัดส่งให้กับโดลเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งตั้งเป้าไว้จะเก็บเกี่ยวนานถึง 20 ปี โดยการปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิชทั้งหมดใช้ต้นจากการเพาะเนื้อเยื่อที่ทาง โดล เอเชีย จัดส่งให้ จากนั้นนำมาเพาะเลี้ยงไว้ 2 เดือน แล้วจึงนำมาปลูกในแปลงโดยจะยกร่องแบบหลังเต่า โดยใช้ระยะปลูก 2×3 เมตร จะปลูกได้ 300 ต้น/ไร่
ในส่วนของการให้น้ำและปุ๋ยนั้น ปกติจะรดน้ำ วันเว้นวันหรือเว้น 2 วัน ในช่วงแล้งจะเพิ่มความถี่ในการให้น้ำมากขึ้น ที่สวนจะใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ ส่วนฤดูฝนขึ้นกับสภาพอากาศ มาถึงการใส่ปุ๋ย การให้ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยทุกเดือนๆละครั้ง โดยใช้ 0-0-60 เป็นหลัก เสริมทัพด้วย 46-0-0 ซึ่งจะให้ปุ๋ยประมาณ 7 ครั้งต่อเดือน พร้อมทั้งใส่มูลไก่อัดเม็ดปีละครั้ง มีการพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นหนอน ส่วนโรคตอนนี้ยังไม่เจอปัญหา สารเคมีที่ใช้ในสวนกล้วยจะมีอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น ดาโคนิล สารกำจัดแมลงก็จะมี ไดเมทโธเอท ซึ่งจะใช้แค่ช่วงแทงปลี โรคที่สำคัญของกล้วยก็คือ ตายพราย หลายคนเสียหายจากโรคนี้ แต่ที่สวนยังไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งต้องมีการจัดการดินที่ดี มีการฆ่าเชื้อทางดินที่ดีแล้ว ต้องจัดการกับใบที่เป็นโรคด้วย หมั่นแต่งใบออก ให้เหลือใบ 10-12 ใบต่อต้น
กล้วยหลังจากปลูกลงดินแล้ว จะมีหน่อแทงขึ้นมาที่บริเวณหน่อเดิม ต้องคอยตัดทิ้งเพื่อไม่ให้หน่อใหม่แย่งอาหารจากต้นแม่ที่ต้องหาอาหารเลี้ยงลูกในเครือ ซึ่ง 1 เดือนหลังปลูกต้นกล้วยจะมีหน่อเกิดขึ้นมากมาย จะต้องปาดหน่อทิ้งหรือขุดไปปลูกในแปลงใหม่ โดยจะไว้หน่อหรือเหลือหน่อไว้เพียงหน่อเดียวเพื่อเป็นต้นที่จะให้ผลผลิตในรุ่น 2 ต่อไป
ประมาณ 4 เดือน หลังปลูกลงดิน กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช จะแทงปลีและมีหวีครบสุดปลีใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน โดยในหวีสุดท้ายซึ่งมักจะมีขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าตีนเต่า จะตัดลูกในหวีออกทั้งหมด เหลือไว้เพียง 1 ลูก เรียก ลูกฮีโร่ เพื่อใช้เป็นการ์ดไม่ให้เชื้อโรคจากส่วนของปลายหวีลามขึ้นไปยังหวีด้านบนและป้องหันไม่ให้ปลายหวีเหี่ยวแห้ง ขณะเดียวกัน ลูก ฮีโร่ ยังช่วยดึงน้ำและอาหารลงไปยังหวีสุดท้ายของเครือได้อีกด้วย
หลังจาก 12 สัปดาห์ หลังจากแทงปลีแล้ว จะสามารถเก็บเกี่ยวรอบแรกได้ ซึ่งทางบริษัทจะติดสัญลักษณ์ไว้ทุกต้นว่าต้นนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อไหร่ ทำให้ง่ายในการเก็บเกี่ยว หรือจะสังเกตง่ายๆ ว่ากล้วยพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้หรือยัง ก็จะวัดจาก 3 ลูกกลางหวีที่ 2 จากด้านบน ถ้ามีขนาด 45 มิลลิเมตร ความสุกประมาณ 85% สามารถตัดเครือได้เลย และอีกไม่เกิน 5 เดือนจะสามารถตัดเครือรุ่นที่ 2 ได้อีกรอบ หลังจากตัดเครือแล้วก็จะนำมาตัดแบ่งเป็นหวี แพคใส่ตะกร้า นำขึ้นรถห้องเย็นของบริษัท โดล เอเชีย ที่มารอรับอยู่แล้ว
การดูแลเพื่อให้กล้วยมีผิวสวย ไม่ให้กล้วยแต่ละหวีในเครือทิ่มแทงกันจะใช้ถุงพลาสติกกั้นระหว่างหวีกล้วยไว้ และห่อเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกสีขาวเพื่อป้องกันใบกล้วยไม่ให้โดนหวีกล้วยซึ่งอาจทำให้เป็นรอยที่ผิวกล้วยได้ นอกจากนี้ยังผูกริบบิ้นเป็นสัญลักษณ์เพื่อกำหนดอายุเก็บเกี่ยวอีกด้วย
อยากรู้ต้องศึกษาการลงทุน
ท่านใดที่จะลงทุนปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช มาเปิดวิสัยทัศน์กัน กับสัมมนา “กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช อนาคตของเกษตรกรไทย” ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ค่าสัมมนา 850 บาท
สอบถามเพิ่มเติม หนึ่งฤทัย 089-7835887 ,029766990…งานนี้คุณจะได้ทุกคำตอบและโอกาสดีๆ ที่ไม่น่าพลาดค่ะ
ขอบคุณ : นิตยสารรักษ์เกษตร