เรื่อง/ภาพ : เด็กเกษตรโว้ย
“ผมอยากทำเมล่อน…อยากปลูกพันธุ์ที่อร่อย เพื่อให้คนไทยเราได้รับประทาน เป็นผลไม้ของคนไทย โดยจะไม่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ เหมือนที่ญี่ปุ่นเขามีลูกพลับ มีเมล่อนที่เป็นพันธุ์ของเขาเอง และเหมือนที่อิตาลีที่เขามีพันธุ์มะเขือเทศที่ปลูกขึ้นมาเพื่อให้คนของเขาเอง” คุณพัฒนพงศ์ การุณยศิริ หรือ “ลุงบุ๊ง” เจ้าของ uncle boonk ฟาร์มเมล่อน แห่ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้พูดกับคณะสื่อมวลชนสายเกษตร รวมทั้งเกษตรกร ประมาณ 80 คน ที่ “ฟอร์ด เรนเจอร์ แกร่งทุกงานเกษตร” ได้นำพามาเยี่ยมชมฟาร์มปลูกเมล่อนของเขาในบ่ายวันหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้
คำพูดข้างต้น คือ “แรงบันดาลใจสำคัญ” ที่ทำให้ลุงบุ๊ง ได้ตัดสินใจที่จะลงทุน 60 ล้านบาท บนพื้นที่ 35 ไร่ กลางทุ่งนาให้แปรสภาพเป็นโรงเรือนปลูกเมล่อนขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ฟังๆดูอาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินจริง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้พิสูจน์แล้วด้วยการลงมือทำจริง
ประมาณเดือนตุลาคม 2558 uncle boonk ฟาร์มเมล่อนสิงห์บุรี ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเงียบๆในช่วงแรกๆ จนเมื่อเมล่อนรสชาติอร่อยได้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีการถามหากันว่าเป็นเมล่อนที่ปลูกที่ไหน ทำไมมันถึงอร่อยอย่างนี้
“แค่อยากให้คนไทยได้กินเมล่อนที่อร่อย มันต้องลงทุนกันขนาดนี้หรือ” ผู้เขียนสงสัยอยู่ในใจ…ไม่ทันที่จะส่งคำถามออกไป ลุงบุ๊งเหมือนจะรู้จึงตอบอธิบายว่า
“โรงเรือนที่เห็นนั้น ผมใช้เทคโนโลยีของอิตาลี ภายในจะเป็นระบบอีแว๊ป เป็นโรงเรือนปิด ใช้หลักการเดียวกับฟาร์มหมู ซึ่งผมก็เลี้ยงหมูมาก่อนและตอนนี้ก็ยังเลี้ยงอยู่…ผมคิดว่าเมล่อนจะปลูกได้ดีหรือไม่ จะอร่อยหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในเรื่องของอุณหภูมิ หากเราสามารถควบคุมได้ก็จะทำให้เมล่อนอยู่สบายทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่เมล่อนนอนหลับ สามารถเติบโตได้อย่างเหมาะสมตามสายพันธุ์ การควบคุมอุณหภูมินี้ยังส่งผลถึงเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เรียกว่าสามารถป้องกันแมลงและปลอดสารเคมี 100% โดยที่อื่นอาจจะใช้ตาข่าย อาจเล็ดลอดได้ แต่ของเราเป็น PVC…ต่อมาเรื่องวัสดุปลูกจะต้องถูกต้องตามหลักวิชาการของประเทศแม่คือประเทศญี่ปุ่น ผมใช้นักวิชาการของเขามาสอนมาถ่ายทอดความรู้ นี่ก็เพิ่งกลับไป”
วัสดุปลูกที่ว่าคืออะไรบ้าง? “วัสดุปลูกที่จำเป็นคือ หินแร่ภูเขาไฟ มีทั้งก้อนเล็ก และก้อนหยาบ นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีซิลิคอนที่ละลายน้ำอยู่มากแล้วทำให้เมล่อนหวานขึ้น ส่วนวัสดุเพาะชำก็มองข้ามไม่ได้เป็นขุยมะพร้าว นำเข้าจากศรีลังกา …”
ไม่เพียงแค่โรงเรือนที่ลงทุนทันสมัย ไม่เพียงแค่วัสดุปลูกที่ต้องพิถีพิถัน ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นคำตอบสุดท้าย ยังอยู่ที่เรื่องของสายพันธุ์
“ผมนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะสายพันธุ์ Benechia Natsu 1 เมล่อนตระกูลสูงที่ชนะการประกวดเป็นแชมป์ในญี่ปุ่น ให้เนื้อสีเขียวอมเหลือง กลิ่นหอม รสชาติหวานละลายในปากต่างจากเมล่อนทั่วไป…โดยกระทรวงเกษตรของเขารับรองรสชาติ (คุณภาพบอกราคาทั้งหมด ลุงบุ๊งว่า) …สายพันธุ์ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆนะ ผมทักเขาทางอีเมล์ ส่งภาพโรงเรือนให้เขาดูว่าเราทำแล้วนะ ลงทุนแล้วนะ ทางญี่ปุ่นจึงยอมเป็นพันธมิตรกับเรา”
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการนับข้อว่าจะให้เมล่อนออกลูกที่ข้อไหน (นับข้อที่ต้น) ข้อจะต้องเท่ากันทั้ง 3 ข้อ จึงจะเป็นข้อที่อร่อยที่สุด อีกทั้งเรื่องการนับใบให้ครบ 12 ใบ แล้วจึงตัดยอด ทั้งหมดเป็นเรื่องศาสตร์และศิลป์ที่ใช่ว่าจะเรียนรู้ได้ง่าย หากไม่นำมาปฏิบัติและมีต้นแบบที่ถูกต้องจริงๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทึ่งและนึกไม่ถึง คือ การนำผึ้งชันโรงมาเป็นตัวผสมเกสร เป็นวิธีการแบบธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้คนเขี่ยผสมเกสรในดอกที่ต้องการให้ออกผล แต่ที่ใช้ผึ้งก็เพราะมั่นใจว่าจะเป็นมืออาชีพมากกว่าคนทำ และสายพันธุ์ผึ้งมีภารกิจหลักเฉพาะเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ผึ้งชันโรง..ผมเลี้ยงไว้จำนวนมาก จะให้พวกเขาช่วยผสมเกสรเมล่อน ลูกจะออกมาสวยทำให้ไม่บิดเบี้ยว ถ้าคนผสมจะทำให้ลูกบิดเบี้ยวได้”
ทั้ง 3-4 เรื่องที่พูดมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเมล่อนได้คุณภาพ มีรสชาติอร่อย ซึ่งผู้เขียนและสื่อมวลชน รวมทั้งเกษตรกรที่ไปเยี่ยมชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อยมากๆ “เคยทานเมล่อนมาก็ไม่เคยอร่อยเท่านี้” เสียงพูดกันหลายคน (บางคนนั้นไม่พูด แต่หยิบไปชิมชิ้นแล้วชิ้นเล่า 555) กระซิบถามดังๆว่า ตั้งราคาขายอย่างไร ไปขายที่ไหนบ้าง
ได้รับคำตอบว่า “ลูกละ 682 บาท” ทำให้ตกใจเล็กน้อย เงินที่เตรียมมาตั้งใจว่าจะซื้อไปฝากน้องๆที่ออฟฟิศคนละลูกคงไม่พอเสียแล้ว
“ผมไปดูงานเมล่อนที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาไม่ได้ขายเป็นกิโลเหมือนบ้านเรา เขาขายเป็นลูกๆละ 1,000, 2,000, 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ผลิตที่ฟาร์มไหน…ผมจึงต้องทำแบบนั้นบ้าง คือขายเป็นลูกๆละเกือบ 700 บาท ลงมาถึงลูกละ 300-400 บาท ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ครับ” ลุงบุ๊ง ตอบกันอย่างตรงไปตรงมา
ตลาดอยู่ที่ไหน? “ตลาดของเราไม่ได้ไปวางขายที่ไหน แต่ขายกันกลางอากาศ ผ่านสื่อออนไลน์ (เป็นตลาดที่กว้างใหญ่มากๆ) เราต้องสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ว่าเมล่อนของเราอร่อยมีคุณภาพ ไม่เหมือนที่เขาเคยรับประทาน…มีบ้างที่เราออกงานต่างๆ เช่น ที่สยามพารากอน เราพบว่ามีลูกค้าต่างชาติมาซื้อกลับประเทศของเขา พอเขาชิมก็ถูกใจ หรืออย่างล่าสุดเราออกงานเกษตรไทยก้าวหน้า ภายใต้ร่มพระบารมีที่สวนลุม…ถ้ามีงานเกษตร หรืองานสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องเราก็จะไปออกบูธแนะนำ”
ในตอนท้ายลุงบุ๊ง บอกว่า จากที่ได้ผลิตเมล่อนออกมาทดลองตลาด คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะกำลังซื้อจากคนที่ต้องการผลผลิตคุณภาพยังมีอีกเยอะ
“กำลังการผลิตของเราเวลานี้มีประมาณ 120,000-130,000 ลูกต่อปี…คาดว่าที่ลงทุนไปทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีก็จะคืนทุน” คือคำตอบสุดท้ายจากลุงบุ๊ง
ผู้เขียนกับเพื่อนสื่อมวลชนคนหนึ่ง (คุณมนตรี ตรีชารี จากเกษตรโฟกัส) ลองคำนวณเล่นๆคิดแค่ลูกละ 500 บาท คูณ 100,000 ลูก เป็นเงิน 50,000,000 บาท (50 ล้านบาท) …เป็นไปได้หรือนี่ (มันเป็นไปได้แล้ว)
คิดต่อไปอีกว่า คนจนอาจไม่มีสิทธิ์ทาน แต่คิดอีกที ทำสินค้าเกษตรมันก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายอย่างนี้ละในเมื่อคุณมีทุนก็ต้องลงทุนกันหน่อย… “สู้สู้ครับลุงบุ๊ง…ลุงตู่บอกว่า ไทยแลนด์ 4.0 แล้วนะครับ”
ขอบคุณ : ฟอร์ด เรนเจอร์ “แกร่งทุกงานเกษตร” รวมทั้ง สมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ ที่นำพามาให้พบกับ uncle boonk ฟาร์มเมล่อนสิงห์บุรี ในครั้งนี้
(ติดต่อ Uncleboonk เมล่อนฟาร์มสิงห์บุรี 100/1 หมู่ 5 ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี 16120 โทร. 092 2834104)