5 หน่วยงานภาครัฐ ผสานกำลังสร้างไม้ค้ำยันเสริมเกร่งผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs แบบครบวงจร ทั้งอบรมความรู้ พัฒนามาตรฐานการผลิต ยกระดับบรรจุภัณฑ์ จัดสรรช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่อต้นทุนต่ำ กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชนและภูมิภาค มุ่งขยายตลาดกว้างไกลสู่ระดับสากล ตอบโจทย์นโยบาย Local Economy ของรัฐบาลยุค 4.0
เมื่อวันนี้ (29ส.ค.) 5 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ติดปีก 4.0 ประกอบด้วย นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) นายทวิโรจน์ ทรงกำพล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP (One Tambon One Product) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs (Small and Medium Enterprises) อย่างครบวงจร ตั้งแต่ด้านความรู้ พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยกระดับบรรจุภัณฑ์สอดคล้องความต้องการของตลาดเป้าหมาย จัดสรรพื้นที่และช่องทางจัดจำหน่าย ช่วยทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุนการเงินต้นทุนต่ำ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และSMEs ให้เป็นที่รู้จัก สามารถต่อยอดขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติ รวมถึง ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวระดับชุมชน และภูมิภาค ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยนำพาเศรษฐกิจฐานรากหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจยุค 4.0 และยังสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ข้อ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ข้อ 2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และข้อ 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้โครงการกิจการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และSMEs ติดปีก 4.0 สำเร็จลุล่วง ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลจำนวน 28 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของรัฐบาลเรื่องการเน้นการส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมของประเทศ ซึ่งในปีพ.ศ. 2563 โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ. ยะลา คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มอีก 1 แห่ง สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทย. มีความพร้อมในการให้การสนับสนุนการใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแล เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการใช้พื้นที่จำหน่ายสินค้าและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายที่ดีร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่น
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. พร้อมให้ความร่วมมือด้านวิชาการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่ผ่านมา สมอ. ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของ ธพว. ในโครงการนำร่องเพื่อศึกษาและสำรวจศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ของราชอาณาจักรกัมพูชา และ สปป.ลาว อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV และในอนาคตจะขยายไปสู่กลุ่มประเทศ AEC ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือในการดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ติดปีก 4.0 ในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบที่ดีแห่งการบูรณาการการขับเคลื่อน SMEs และ OTOP ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ผลิตภัณฑ์ดีมีนวัตกรรม 2) ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพได้มาตรฐาน และ 3) ผลิตภัณฑ์มีตลาดรองรับ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะสามารถให้การสนับสนุน ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อน SMEsและ OTOP สู่ยุค4.0
นายทวิโรจน์ ทรงกำพล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ไทยสมายล์จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ผ่านทางสื่อต่างๆ ของไทยสมายล์ ตลอดจนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้ากับ ธพว.เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือนี้อีกด้วย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ธพว.ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร และช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมเปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ ผ่านโครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” วงเงิน 7,500 ล้านบาท เพื่อมุ่งเน้นยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในชุมชนและภูมิภาค เช่น ธุรกิจตั้งในแหล่งท่องเที่ยว หรือในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ธุรกิจที่พัก และร้านอาหาร เป็นต้น รวมถึง สนับสนุนเงินลงทุนแฟรนไชส์ สร้างทางเลือกให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะก่อประโยชน์เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนและภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ตามนโยบาย Local Economy ของรัฐบาล
สำหรับหลักเกณฑ์ โครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” กรณีเป็นบุคคลธรรมดา กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถใช้ บสย. ค้ำประกัน โดยจะได้รับการชดเชยค่าธรรมเนียม บสย. ใน 4 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมรวม 7 ปี กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.0 ต่อปี กรณีใช้หลักประกัน บสย. คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี โดยลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือค่าธรรมเนียม บสย. ฟรี 4 ปี ปีละ 1.75% รวม 7% โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 4% และอีก 3% เป็นการช่วยเหลือจาก ธพว. ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของ ธพว.