ข่าวโดย : อังคณา ว่องประสพสุข กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร 

กรมวิชาการเกษตร โชว์ผลความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาชนบท (RDA) สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ Korea Program for Agriculture (KOPIA) ใน “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม” ชูผลสำเร็จโครงการ 3 ปี (2558-2560) สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ช่วยตอบโจทย์เกษตรกร เสริมศักยภาพความเข้มแข็งการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชสู่กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรต้นแบบ พร้อมต่อยอดขยายผลปรับใช้ในพันธุ์พืชอื่น มุ่งบูรณาการสนองนโยบายขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสนับสนุนกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล

ดร.อุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ดร.อุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ดร.อุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ผสานความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาชนบท (RDA) สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ Korea Program for Agriculture (KOPIA) ใน “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม” โดยได้ต่อยอดขยายผลจากโครงการของกรมวิชาการเกษตร “โครงการหมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนราคาเมล็ดพันธุ์ มีเมล็ดพันธุ์สำรองไว้ใช้เพื่อรองรับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสามารถกระจายพันธุ์จากภาคราชการสู่เกษตรกรได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรได้เลือกใช้พันธุ์ข้าวโพดคุณภาพดีของภาครัฐ คือ ข้าวโพดลูกผสมนครสวรรค์ 3 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานแล้งได้ดี รวมถึงยังได้สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งในการผลิตเมล็ดพันธุ์และประกอบธุรกิจต่อไปได้

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดลูกผสม
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดลูกผสม

ปัจจุบันเกษตรกรต้นแบบเกิดความพึงพอใจในเทคโนโลยีการผลิตและพันธุ์ในระดับมากถึงมากที่สุด เกิดความภาคภูมิใจในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้านและชุมชนใกล้เคียง และยังก่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 และมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการตามนโยบายแผนการขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตของเกษตรกรต่อไป

แปลงต้นแบบ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม
แปลงต้นแบบ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม

ดร.ชุติมา คชวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินโครงการ 3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างเกษตรกรต้นแบบ จัดทำแปลงสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ และสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่กรมวิชาการเกษตรสนับสนุนจัดตั้งเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในเขตภาคเหนือตอนล่าง คือ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และตาก ซึ่งผลสำเร็จของโครงการมีเกษตรกรเข้าร่วม 150 ราย ใน 7 จังหวัด แปลงปลูกสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ 560 ไร่ รวมผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 272 ตัน สามารถนำเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้ในพื้นที่ 90,760 ไร่ เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์สำรองไว้ปลูกเองร้อยละ 10 และไว้จำหน่ายร้อยละ 90 หากประเมินรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ากว่า 17.4 ล้านบาท

ผลผลิตที่นำมาใช้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม
ผลผลิตที่นำมาใช้ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated