สำหรับภารกิจที่สำคัญในปีบัญชี 2560 ธ.ก.ส.ยังทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตร ผ่านมาตรการและโครงการที่สำคัญ ได้แก่
- มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย จ่ายสินเชื่อไปแล้วจำนวน 56,022 ราย เป็นเงิน 68,542 ล้านบาท และมี SME เกษตรที่เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วกว่า 2,401 ราย
- การแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 41,108 ราย ลดภาระหนี้นอกระบบได้ จำนวน 4,001 ล้านบาท
- โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ 1,585,031 ราย พื้นที่ 23.76 ล้านไร่
- โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ ปี 2560 มีประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านราย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด 6.16 ล้านราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการแจกบัตรสวัสดิการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 ผลการดำเนินงาน ณ 31 ตุลาคม 2560 มอบบัตรสวัสดิการไปแล้ว 5.7 ล้านราย
นายอภิรมย์กล่าวไปต่อว่า ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวผ่านจากการเป็นผู้ผลิตระดับต้นสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งการผลิต การตลาด การจัดการบัญชีเงินทุน การพัฒนาฝีมือแรงงานการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ การเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีความเป็นสากล พัฒนาสินค้าจากตลาดประชารัฐระดับชุมชน สู่การค้าระหว่างกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งไปยังระบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ขยายตลาดจากชุมชนสู่ระดับประเทศและระดับโลก ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce เพื่อยกฐานะ SMEs เกษตร รูปแบบเดิมไปสู่Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงสามารถบรรลุเป้าหมายเกษตรกร 4.0 และยังเป็นหัวขบวนภาคเกษตรที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาถ่ายทอดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรลูกค้า ครอบครัวและชุมชนผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส. และได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับขึ้นเป็น “ชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อ” ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม เป็นแกนกลางเหนี่ยวนำชุมชนอื่นๆ ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด โดยปัจจุบันมีชุมชนท่องเที่ยว ตามรอยเท้าพ่อแล้วทั้งสิ้น 77 ชุมชนทั่วประเทศ” นายอภิรมย์ กล่าว