นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเรียกร้องให้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำของเกษตรกรผู้ปลูกยางที่ปัจจุบันอุณหภูมิร้อนแรงขึ้น สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดประชุมคณะกรรมการด้านยางพารา เมื่อวันที่ 2 พ.ย.60 ณ ห้องประชุม 2 อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพิจารณาโดยฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกร องค์กรเกษตรกร สถาบันเกษตรกร บุคคลที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากการประชุมได้ข้อสรุปตกผลึกเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข 5 ข้อ คือ
- เสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ยางพาราในประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานทุกกระทรวงวางเป็นแผนงานโครงการเพื่อใช้ยางพาราภายในประเทศมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีอาจใช้ ม.44 ประกาศยกเว้น ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ภายในปีนี้ได้ทันท่วงทีในปริมาณที่เยอะขึ้น
- เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณการส่งออกหรือระงับการส่งออก ด้วย รมต.ก.เกษตรฯเป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมยาง หากนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและสถานการณ์ราคายางในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ตกต่ำอยู่
- เสนอให้สร้างตลาดกลางยางพาราของประเทศไทย หรือไทยคอม ซึ่งจะเป็นตลาดกลางสำหรับซื้อ-ขายจริง เป็นตลาดจับคู่ระหว่างผู้เสนอขายและผู้ต้องการใช้หรือผู้เสนอซื้อ โดยตลาดนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรรายย่อยและสถาบันเกษตรกร เพราะในระบบตลาดนี้จะมีตลาดท้องถิ่นอยู่ด้วย
- เสนอให้ กยท.ยกเลิกบริษัทร่วมทุน เนื่องจากไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร
- เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาองค์กรเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรสวนยาง และเขยิบจากขายวัตถุดิบเป็นขายผลิตภัณฑ์ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและความเป็นอยู่ที่ดีให้เกษตรกร โดยทั้ง 5 แนวทางจะเสนอประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติลงนามและนำส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาตามข้อ 1 และ 2 นั้นถ้ารัฐบาลนำไปใช้เลยก็จะส่งผลต่อการปรับตัวราคายางให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนการบังคับใช้กฎหมายหากภาคเอกชนไม่สามารถผลักดันราคาให้สูงกว่าต้นทุนเกษตรกรได้ก็ไม่ควรส่งออกจะต้องกระเตื้องราคาขึ้นก่อนเพื่อส่งออกได้ ส่วนแนวทางอื่นนั้นต้องใช้เวลา พร้อมหาภาคีหน่วยงานร่วมแนวทางซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างถาวรแท้จริง
“หากต่างคนต่างอยู่ ต่างทำ ต่างคิด ต่างขาย ก็จะพบกับปัญหาที่ประสบมาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรต้องคิดทบทวนใหม่ ต้องรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งก่อนให้รัฐบาลสนับสนุน” นายธีรพงศ์ กล่าว