สศก. เผยโครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ เกษตรกรพึงพอใจโครงการใน ระดับมาก เมื่อเทียบกับโคเนื้อลูกผสมทั่วไป ต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่า 19.76 บาทต่อกิโลกรัม จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า 9.60 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้สุทธิสูงกว่าโคเนื้อลูกผสมทั่วไปถึงตัวละ 17,866 บาท
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน เสนอของบประมาณจากกองทุน FTA มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ลดการนำเข้าน้ำเชื้อและเนื้อโคคุณภาพดีจากต่างประเทศ กระจายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกพันธุกรรมอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการสู่เกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคเนื้อและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในชนบท โดยได้รับงบประมาณ 46,026,400 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี เริ่มตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2550 สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2559
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลโครงการช่วงต้นปี 2560 ในพื้นที่ 4 ภาค รวม 15 จังหวัด จากเกษตรกรตัวอย่าง 70 ราย โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่โครงการ และเกษตรกรที่ใช้น้ำเชื้อจากโครงการ พบว่า ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี สามารถ คัดเลือกแม่โคพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง-บราห์มัน เพื่อมาผสมกับน้ำเชื้อชาโรเลส์ได้จำนวน 26,316 ตัว คิดเป็นร้อยละ 105 จัดส่งน้ำเชื้อชาโรเลส์ให้เกษตรกร 16,617 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 83
ทำการคัดเลือกลูกโคเพศผู้หลังหย่านมจากการผสมน้ำเชื้อดังกล่าวมาเลี้ยงและทดสอบสมรรถภาพจำนวน 250 ตัว คัดเลือกโคพ่อพันธุ์กำแพงแสนคุณภาพดีที่ผ่านการทดสอบไว้ผลิตน้ำเชื้อจำนวน 50 ตัว ครบตามเป้าหมาย และคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีพันธุกรรมยอดเยี่ยมได้ 24 ตัว มาผลิตน้ำเชื้อกำแพงแสนเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรได้รวม 93,832 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 89 ของเป้าหมาย เกษตรกรนำน้ำเชื้อกำแพงแสนไปผสมกับแม่โคกำแพงแสนในฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 64
ปัจจุบันมีน้ำเชื้อกำแพงแสนที่เหลืออยู่ในโครงการจำนวน 62,500 โด๊ส ทางโครงการฯ จะประสานกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน่วยงานในพื้นที่ และมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการผสมเทียม ช่วยดำเนินการกระจายน้ำเชื้อที่เหลือให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจต่อไป
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนแบบขุนขาย พบว่ามีต้นทุนจำนวน 39,682.50 บาทต่อตัว หรือ 70.86 บาทต่อกิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยที่ขาย 560 กิโลกรัมต่อตัว ส่วนต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อทั่วไปจำนวน 40,237 บาทต่อตัว หรือ 90.62 บาทต่อกิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยที่ขาย 444 กิโลกรัมต่อตัว
จะเห็นได้ว่าต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนต่ำกว่าต้นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมทั่วไปจำนวน 19.76 บาทต่อกิโลกรัม และเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนสามารถจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ย 112.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่โคเนื้อทั่วไปจำหน่ายได้ราคาเฉลี่ย 102.90 โดยราคาโคเนื้อกำแพงแสนสูงกว่าราคาโคเนื้อทั่วไป 9.60 บาทต่อกิโลกรัม
ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสน มีรายได้สุทธิจากการเลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสน 23,317.50 บาทต่อตัว ในขณะที่เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไปมีรายได้สุทธิ 5,450.60 บาทต่อตัว เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนมีรายได้สุทธิสูงกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไป 17,866.90 บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก
อย่างไรก็ตาม พบว่าบางกิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เนื่องจากเกิดโรคระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย และปัญหาราคาโคเนื้อในท้องตลาดตกต่ำในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ ทำให้เกษตรกรบางส่วนขายโคในโครงการทิ้ง จึงควรมีการจัดทำแผนหรือมาตรการรองรับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ โรคระบาดต่างๆ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย หรือราคาโคเนื้อตกต่ำเพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนของเกษตรกรต่อไป